สป.อว. จัดประชุมถอดบทเรียนโครงการ CWIE+EEC Model Type A เพื่อขยายผลการจัดหลักสูตรรูปแบบ Demand Driven Education ในพื้นที่ EEC

เมื่อวันที่ 19 – 20 กันยายน 2567  สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สป.อว.)ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อถอดบทเรียนโครงการเร่งรัดและขยายผลการจัดหลักสูตรพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง CWIE+EEC Model Type A Master Class ประจำปีงบประมาณ 2567 ณ โรงแรมเฮลท์แลนด์ รีสอร์ต แอนด์ สปา พัทยา จังหวัดชลบุรี โดยมี นายสมบัติ รุ่งรัศมี ผู้อำนวยการกองยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา สป.อว. เป็นประธานกล่าวเปิดการประชุม


โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง สป.อว. และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดและขยายผลการจัดหลักสูตรที่ตอบโจทย์การพัฒนาบุคลากรตามแนวทาง CWIE (Cooperative and Work Integrated Education) และ EEC Model Type A ซึ่งมุ่งเน้นการผลิตบุคลากรที่มีทักษะตรงกับความต้องการของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ EEC โดยมีสถาบันการศึกษาเข้าร่วม 18 สถาบัน รวม 33 หลักสูตร มีสถานประกอบการร่วมดำเนินงาน 47 แห่ง และนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการไปปฏิบัติงานจริง ณ สถานประกอบการรวม 161 คน


ในวันแรกของการประชุม นายสมบัติ รุ่งรัศมี ได้กล่าวถึงผลการดำเนินโครงการในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีที่ ของความร่วมมือระหว่าง สป.อว. และ สกพอ. โดยใช้กระบวนการ “Master Class” ที่มี Mentor จำนวน 27 คน ซึ่งผ่านการรับรองจาก สป.อว. เป็นพี่เลี้ยงให้แก่สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อสร้างความร่วมมือกับสถานประกอบการในการพัฒนาหลักสูตรซึ่งสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการได้นำเสนอผลการดำเนินงานและแบ่งปันประสบการณ์ รวมถึงปัญหาอุปสรรค และแนวทางการพัฒนาหลักสูตรในอนาคต

ในวันที่สองของการประชุม ดร.อรสา ภาววิมล อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ได้บรรยายในหัวข้อ “CWIE กลไกใหม่เพื่อการร่วมผลิตกำลังคนของประเทศโดยกล่าวถึงปัญหาการขาดแคลนกำลังคนที่มีทักษะรองรับ
ความเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคปัจจุบัน และความจำเป็นที่สถาบันอุดมศึกษาต้องร่วมมือกับสถานประกอบการในการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะสมัยใหม่ (
Future Skill & New Career) เพื่อให้ทันต่อความต้องการของตลาดแรงงาน

นอกจากนี้ ดร.อภิชาต ทองอยู่ ประธานคณะทำงานพัฒนาบุคลากรในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC HDC)

ได้บรรยายในหัวข้อ “การพัฒนาทักษะกำลังคนขั้นสูงตามแนวทาง EEC Model” โดยเน้นถึงความสำคัญของการปรับโครงสร้างการศึกษาให้ตอบสนองต่อทักษะและสมรรถนะที่ตลาดแรงงานต้องการในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่ง EEC ได้มีการพัฒนาโมเดลการศึกษาที่เน้นความร่วมมือระหว่างผู้เรียน สถาบันการศึกษา และสถานประกอบการ เพื่อให้ผู้เรียนจบแล้วมีงานทำทันทีและมีรายได้สูง

\

กิจกรรมสำคัญอีกหนึ่งกิจกรรมของการประชุมคือการอภิปรายในหัวข้อ “การดำเนินการ CWIE ในพื้นที่ EEC: ความท้าทายและโอกาสสู่ความสำเร็จโดยมีผู้แทนจาก สป.อว. สถานประกอบการ อาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร และนักศึกษา ที่เข้าร่วมโครงการร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการจัดการศึกษาตามแนวทาง CWIE ที่ช่วยให้นักศึกษาได้พัฒนาทักษะทั้ง Hard Skills และ Soft Skills จากการปฏิบัติงานจริง โดยมีระยะเวลาการฝึกงานไม่น้อยกว่า 6 เดือน ทั้งนี้ทุกฝ่ายต่างแสดงความพึงพอใจและเห็นว่าโครงการนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนากำลังคนของประเทศ

ในการประชุมครั้งนี้ สป.อว. ยังได้รวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่าย เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาโครงการในปีงบประมาณ 2568 โดยมีการกำหนดแผนงาน กิจกรรม และงบประมาณ รวมถึงการพิจารณากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย และเกณฑ์การคัดเลือกทั้ง Mentor และหลักสูตร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินงานต่อไป


ประกาศวันที่ : 23 กันยายน 2567, โดย : กองยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา (กคอ.) กลุ่มส่งเสริมการจัดการศึกษาตลอดชีวิตและเทียบคุณวุฒิ 2 (สท.2)